กกพ.จ่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 100 เมกะวัตต์ เดือน ธ.ค. 65 ให้ FiTจูงใจมาก 6.08 บาทต่อหน่วย
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 100 เมกะวัตต์ ในเดือน ธันวาคม 2565 นี้ พร้อมกำหนดเงื่อนไขต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาก่อน และต้องมีกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดรับซื้อในรูปแบบ FiT อัตราสูง 6.08 บาทต่อหน่วย สัญญา 20 ปี กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2569 ระบุประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเดือน พ.ค. ปี 2566 เหตุมีขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์เพิ่ม เพื่อให้การแข่งขันเกิดความโปร่งใสมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 2565 นี้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14-20 ก.ย. 2565 กกพ. ได้ออกร่างระเบียบหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) เพื่อเปิดรับฟังความเห็นประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการออกระเบียบและกฎเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการเพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต่อไป
โดยการเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในครั้งนี้เป็นไปตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 100 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ FiT และให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2569 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2564-2573 หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1
ดังนั้น กกพ. จึงได้ร่างระเบียบและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โดยประเด็นสำคัญคือ การกำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ จำนวนรวม 100 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า(Non-Firm) และกำหนดอัตรารับซื้อในรูปแบบ FiT โดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 ปี
โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT กำหนดรับซื้อในราคา 6.08 บาทต่อหน่วย และให้ FiT อัตราพิเศษเพิ่มอีก 0.70 บาทต่อหน่วย สำหรับโครงการขยะอุตสาหกรรม 8 ปีแรก ส่วนโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และอ.นาทวี ให้ FiT พิเศษอีก 0.50 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ได้กำหนดกรอบสูงสุดในการรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเป็นรายภาค สำหรับ 100 เมกะวัตต์แรกที่เปิดรับซื้อ โดยภาคเหนือรับซื้อไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ ,ภาคกลาง ไม่เกิน 40 เมกะวัตต์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เกิน 20 เมกะวัตต์,ภาคตะวันออก ไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันตก ไม่เกิน10 เมกะวัตต์ และภาคใต้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์
สำหรับคุณสมบัติและเงื่อนไขเบื้องต้นของผู้ที่จะยื่นขอเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.ต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ไม่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และโครงการที่ยื่นเสนอต้องเป็นโครงการใหม่ ไม่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่เคยได้รับการตอบรับซื้อจากการไฟฟ้ามาก่อน
2. ต้องใช้ขยะอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น โดยสามารถใช้ขยะอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียทั้งอันตรายและไม่อันตรายได้ ในส่วนของเชื้อเพลิงเสริม ให้ใช้น้ำมันหรือชีวมวลได้ในช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น และ3.สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมต้องอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมเท่านั้น เป็นต้น
ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการนั้น กกพ. ได้กำหนดให้การไฟฟ้าเปิดให้ยื่นคำขอตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ได้ภายในเดือน ต.ค. 2565 นี้ จากนั้นให้ยื่นข้อมูลเสนอขายไฟฟ้าผ่านระบบสารสนเทศของ สำนักงาน กกพ. ในเดือน ธ.ค. 2565 และการไฟฟ้าจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติในเดือน ธ.ค. 2565 เช่นกัน ส่วนการประกาศผลการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้า ทาง สำนักงาน กกพ.จะประกาศในเดือน พ.ค. 2566 ทั้งนี้กระบวนการใช้เวลากว่า 8 เดือน เนื่องจากต้องมีระยะเวลาให้ยื่นอุทธรณ์สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การให้FiT ถึง 6.08 บาทต่อหน่วย ถือเป็นอัตราที่สูงจูงใจเอกชนผู้ลงทุนอย่างมาก โดยภาระจากการส่งเสริม จะไปรวมอยู่ในต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชน
โดยก่อนหน้านี้ กกพ.ได้มีการประเมินและรายงานต่อที่ประชุม กพช. ถึงภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ คิดเป็นวงเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท