ไทยพร้อมหรือไม่กับการใช้ระบบ Net Metering คำนวณค่าไฟฟ้า?
การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือ โซลาร์รูฟท็อป มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมให้บ้านที่อยู่อาศัยเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยสามารถที่จะขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เข้าระบบด้วยราคาที่จูงใจมากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันบริหารจัดการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 จำนวนไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ โดยใช้ระบบที่เรียกว่า “Net Billing” ที่ต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่เป็นมิเตอร์แบบดิจิทัล เพื่อให้มิเตอร์สามารถวัดปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าและไฟฟ้าที่ไหลเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแต่ละเวลา และนำมาคำนวณค่าไฟฟ้าสุทธิได้ โดยระบบจะคำนวณค่าไฟฟ้าแบบคิดแยกระหว่างค่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้าสู่บ้าน กับค่าขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ให้การไฟฟ้า และนำเงินค่าไฟฟ้าทั้งสองมาหักลบกัน ในรูปแบบ “หน่วยเงิน” ซึ่งราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตเกินมานั้น จะขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายของภาครัฐ ปัจจุบันภาครัฐกำหนดค่าไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่ขายคืนเข้าระบบโครงข่ายต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกของการไฟฟ้าภายใต้ระบบ Net Billing คือ อัตรารับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบอยู่ที่ 2.20 บาท/หน่วย ขณะที่ราคาไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย โดยที่ราคาจำหน่ายดังกล่าว…