พลังงานเร่งเปิดให้มีการประชุม กบง.7 มี.ค.และ กพช.10 มี.ค.2566 ให้ทันก่อนยุบสภาฯ เพื่อพิจารณามาตรการต่อเนื่องด้านราคา LPG, NGV และไฟฟ้า
กระทรวงพลังงาน เร่งเปิดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) 7 มี.ค. 2566 และการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) 10 มี.ค. 2566 ก่อนรัฐบาลประกาศยุบสภาฯ เพื่อให้มาตรการต่างๆ ที่จะสิ้นสุดอายุในเดือน มี.ค. 2566 เดินหน้าได้ต่อเนื่อง ทั้งราคา LPG สำหรับประชาชนทั่วไปและ LPG สำหรับผู้มีรายได้น้อย, ราคาก๊าซ NGV ,ส่วนลดค่าไฟฟ้า รวมถึงเรื่องที่ยังค้างอยู่ เช่น อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว, เปิดเสรีธุรกิจก๊าซระยะที่ 2 ,แผนพลังงานแห่งชาติและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวประเทศ (PDP)
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า หลังจากรัฐบาลประกาศเตรียมยุบสภาผู้แทนราษฎรในเดือน มี.ค. 2566 นี้ ส่งผลให้กระทรวงพลังงานต้องเร่งจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน
โดยการจัดประชุมทั้ง กพช.และ กบง.ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนการยุบสภาฯ เบื้องต้นได้กำหนดจัดการประชุม กบง. ในวันที่ 7 มี.ค. 2566 และประชุม กพช. ในวันที่ 10 มี.ค. 2566 ทั้งนี้เนื่องจากมีวาระด้านพลังงานที่ต้องเร่งตัดสินใจเพราะหลายมาตรการจะสิ้นสุดอายุในสิ้นเดือน มี.ค. 2566
ทั้งนี้วาระที่สำคัญคือ 1. มาตรการด้านราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) โดยในส่วนของที่ประชุม กบง. จะต้องพิจารณาในเรื่องราคา LPG สำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องจากมติ กบง. เดิมเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 กำหนดให้ราคาจำหน่าย LPG สำหรับประชาชนทั่วไปอยู่ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ระหว่างวันที่ 1-28 ก.พ. 2566 และจากนั้นในวันที่ 1-31 มี.ค. 2566 ให้ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท หรือเท่ากับปรับขึ้น 15 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้ราคา LPG จะมาอยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ดังนั้นมติดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2566 นี้ จึงต้องมีการพิจารณาถึงทิศทางราคา LPG ของเดือน เม.ย. 2566 ต่อไปล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังต้องรอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาตามมติ กบง. ที่เสนอเรื่องการต่ออายุส่วนลดราคา LPG สำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มหาบเร่แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากมาตรการส่วนลดราคา LPG 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ที่เริ่มมาตั้งแต่ 1 ม.ค.2566 จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 มี.ค. 2566 โดยที่ประชุม กบง. เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 ได้พิจารณาให้ต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 3 เดือน ระหว่าง เม.ย.-มิ.ย. 2566 ซึ่งขณะนี้รอเพียง ครม.พิจารณาเห็นชอบเท่านั้น
2.มาตรการด้านราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยที่ผ่านมา กบง. ได้ขอความร่วมมือกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ให้คงราคาจำหน่าย NGV สำหรับรถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2565 และจะสิ้นสุดในวันที่ 15 มี.ค. 2566 นี้ ดังนั้น กบง.จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวว่าจะประสานการทำงานร่วมกับ ปตท.ด้านราคา NGV อย่างไรต่อไปหลังสิ้นสุดมาตรการ
3.มาตรการด้านราคาค่าไฟฟ้าประชาชน โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบอัตราส่วนลดค่าไฟฟ้าตามมติ กบง.งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วย จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย และ 2. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นต้องรอดูว่า ที่ประชุม กพช.ในวันที่ 10 มี.ค. 2566 นี้จะมีการหารือเรื่องส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนงวดต่อไปในเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 หรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งใหม่และกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลอาจใช้เวลานาน ดังนั้นหาก กพช. ไม่มีการพิจารณาไว้ก่อนจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าประชาชนงวดต่อไปต้องเท่ากับที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ประกาศไว้โดยไม่มีส่วนลดค่าไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่กระทรวงพลังงานต้องส่งให้ กพช. และ ครม.พิจารณา เช่น แผนพลังงานแห่งชาติ, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวประเทศ หรือ PDP, การขออนุมัติวงเงินกู้เพิ่มเติมสำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงกรณีค่าไฟฟ้าสีเขียว 2 แนวทาง ที่ กกพ.อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 7 มี.ค. 2566 และเรื่องการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่ต้องนำกลับมารายงาน กพช. ด้วย