ส่องมาตรการรับมือวิกฤติพลังงาน 20 ประเทศ ถึงเวลาที่ไทยต้องเอาจริงกับการประหยัดพลังงาน
ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลโดยตรงให้ราคาพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และถ่านหิน ขยับสูงขึ้นมาก ทำให้ประเทศที่เป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิเช่นเดียวกับไทย ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แม้รัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีความพยายามที่จะตรึงราคาเอาไว้ แต่ก็ทำได้เพียงบรรเทาปัญหาได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ท้ายที่สุดก็ต้องปล่อยให้ทั้งค่าไฟฟ้าและน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น
ในภาวะที่สถานการณ์โลกเป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่อาจควบคุมได้นี้ ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานที่ทำได้ก็คือ “การประหยัดพลังงาน” ซึ่งหลายๆประเทศ ต่างออกมาตรการและรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานกันไปแล้ว และเนื่องจากปีนี้ ประเทศไทยก็ต้องเจอปัญหาหนักหนาสาหัสในเรื่องราคาพลังงานเช่นกัน ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC) จึงขอหยิบเอาตัวอย่างการประหยัดพลังงานของประเทศต่างๆ 20 ประเทศ ที่ทางกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานของไทย สรุปรวบรวมเอาไว้ (ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 2565 ) มาเน้นย้ำ เพื่อที่ภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน จะได้เรียนรู้และตระหนักได้ว่าต้องเอาจริงเอาจังกับการประหยัดการใช้พลังงานกันได้แล้วตั้งแต่วันนี้
ยุโรปเน้นปรับอุณหภูมิเครื่องทำความร้อน/เครื่องปรับอากาศ และจำกัดการใช้ไฟฟ้าในบางกรณี
1. อิตาลี – มีการร่างแผนประหยัดพลังงานในสภาวะฉุกเฉิน ( Emergency saving plan ) ซึ่งมีมาตรการจำกัดการเปิดเครื่องทำความร้อนที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว และเปิดเครื่องปรับอากาศที่ อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน รวมถึงลดการเปิดไฟฟ้าริมถนนในเวลากลางคืน และปิดร้านค้าก่อนเวลาปกติ
2. โปแลนด์ – รัฐบาลวางแผนสนับสนุนงบประมาณกว่า 1 พันล้านยูโร ให้กับโครงการ clean air program โดยให้เงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนสำหรับการติดตั้งฉนวนของบ้านและระบบทำความร้อนที่มีประสิทธิภาพสำหรับครัวเรือน
3. ฝรั่งเศส – ประกาศแผนพลังงาน energy sobriety เมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการประหยัดพลังงานให้ได้ 10% ภายในปี 2567 เมื่อเทียบกับฐานปี 2562 ออกมาตรการให้ห้างร้านต่างๆ ปิดประตูเข้า-ออกในขณะเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน รวมถึงปิดไฟป้ายโฆษณาในทุกเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 8 แสนคน ระหว่างช่วงเวลา 1.00 น.-6.00 น.
4. เยอรมนี – รัฐบาลอนุมัติมาตรการประหยัดพลังงานช่วงฤดูหนาว จำกัดการใช้ไฟฟ้าในอาคารสาธารณะ ปิดเครื่องทำความร้อนในห้องที่ไม่มีคนใช้งาน ส่วนอาคารสาธารณะต่างๆ ยกเว้น โรงพยาบาล ให้จำกัดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนที่ 19 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น ยังมีการนำถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถไฟ แทนการใช้น้ำมัน
5. สเปน – มีมาตรการให้ภาคธุรกิจต่างๆ ปรับอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว และเปิดเครื่องปรับอากาศที่ อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน เช่นเดียวกับอิตาลี และขอความร่วมมือประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 22.00 น.เป็นต้นไป
เอเชียลดการใช้ พร้อมมุ่งส่งเสริมพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียน
6. จีน – ภาพรวมมีการจัดสัปดาห์ประหยัดพลังงานแห่งชาติ ปี 2565 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เมืองเฉิงตู (ประชากร 20 ล้านคน ) มีการปิดไฟตกแต่งภูมิทัศน์นอกอาคาร ป้ายชื่ออาคาร ป้ายโฆษณา และโครงการร่วมทุนเอกชนจีนกับบริษัทโตโยต้ามีการปิดโรงงานชั่วคราว รวมถึงมีการขยายเวลามาตรการปันส่วนไฟฟ้าในบางพื้นที่ ส่วนที่นครฉงชิ่ง (ประชากร 32 ล้านคน) ได้มีคำสั่งให้ห้างสรรพสินค้าจำกัดเวลาเปิดและปิดให้บริการ เหลือเพียงช่วง 16.00 น. – 21.00 น. เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า สำหรับ มลฑลเสฉวน (ประชากร 32 ล้านคน) มีการสั่งปิดโรงงานส่วนใหญ่นาน 6 วัน เพื่อประหยัดไฟฟ้า มีการปิดเครื่องปรับอากาศ ลิฟต์ ไฟในสำนักงานและห้างสรรพสินค้า โดยเหตุที่ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นนี้ เพราะเมืองต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าพลังน้ำถึง 80% ขณะที่ปัจจุบันยังประสบปัญหาภัยแล้ง ซ้ำเติมด้วยราคาพลังงานแพง ส่วนนครเชี่ยงไฮ้ มีมาตรการปิดไฟประดับจุดชมวิวและทางเดินเลียบแม่น้ำหวงผู่
7. ญี่ปุ่น – ขอความร่วมมือเอกชน และ ประชาชนทั่วประเทศช่วยกันประหยัดไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.65 เพราะคาดว่าอาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว รัฐบาลให้แต้มสะสมมูลค่า 2,000 เยนแก่ครัวเรือนที่ร่วมประหยัดการใช้ไฟฟ้าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีการปรับนโยบายพลังงานครั้งสำคัญ โดยกลับมาผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ หลังปิดไป 10 ปี เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน
8. อินเดีย – ออกมาตรการที่มีข้อกำหนดให้อาคารที่สร้างใหม่ต้องเป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน
9. อินโดนีเซีย – เพิ่มเงินอุดหนุนด้านพลังงาน ปี 2565 เป็น 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ มากขึ้น 3 เท่า และกันไว้ 5% เพื่อใช้ในโครงการด้านสวัสดิการสังคม
10. กัมพูชา – รัฐบาลให้เงินอุดหนุนการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา จำนวนมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรักษาอัตราค่าไฟฟ้าให้คงที่ และให้ความสำคัญกับเขื่อนผลิตไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
11. ฟิลิปปินส์ – รัฐบาลประกาศแคมเปญ Energy Efficiency and Conservation Information Campaign รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าหมายลดการใช้ไฟฟ้าลง 10% ในอาคารของรัฐ โดยให้ใช้หลอดLED และเปลี่ยนมาใช้เครื่องปรับอากาศแบบ inverter ทั้งหมดภายในปี 2570 รวมทั้งส่งเสริมให้ห้างสรรพสินค้าใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
12. สิงคโปร์ – ตั้งเป้าลดใช้ไฟฟ้า 15% ภายในปี 2573 โดยส่งเสริมให้ใช้หลอดไฟฟ้า LED ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ผลักดันโครงการฉลากประหยัดพลังงาน เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน
13. เวียดนาม – รัฐบาลร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยประสิทธิภาพพลังงาน การประหยัด และการอนุรักษ์พลังงาน มีเป้าหมายจะประหยัดพลังงานให้ได้ 8-10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด และลดการสูญเสียพลังงานให้ได้ 6% ภายในปี 2573
ฝั่งอเมริกา รัฐมีมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน
14. สหรัฐอเมริกา – รัฐบาลประกาศมาตรฐานประหยัดพลังงานขั้นต่ำของเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ประกาศ Building Code ที่ให้การก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์มีข้อกำหนดเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
15. แคนาดา – รัฐบาลจัดทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่างๆ ออกมาตรการประหยัดพลังงานของอาคาร และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ ภาคขนส่งมีการออกกฏหมาย Green Levy เพื่อจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ไม่ประหยัดพลังงาน
16. เม็กซิโก – รัฐบาลจัดทำมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน อาทิ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น จัดตั้งกองทุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการลดการปล่อยมลพิษ
ตะวันออกกลางอุดหนุนค่าไฟ / ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ลดการใช้พลังงาน
17. นิวซีแลนด์ – ขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันและยกเลิกค่าธรรมเนียมผู้ใช้ถนนและค่าโดยสารสาธารณะจนถึง 1 ม.ค 2566
18. ออสเตรเลีย – กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือประชาชนในรัฐนิวเซาท์เวลส์ กว่า 8 ล้านคน งดใช้ไฟฟ้า 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 18.00 น.-22.00 น. ของทุกวันเพื่อช่วยกันประหยัดพลังงานเพราะเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงไฟฟ้าดับสูง
19. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ – ออกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยอุดหนุนเป็นรายเดือนที่ 85% ของราคา รวมทั้งการอุดหนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่พัก
20. โอมาน – อุดหนุนค่าไฟฟ้า 15% ของค่าไฟฟ้าปกติ ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน ครัวเรือนและสำนักงานต้องเปิดเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้เป็นจำนวนมากส่งผลให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น
ไทย รณรงค์ “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” ขอความร่วมมืองดใช้ไฟฟ้าช่วงพีค
ทิ้งท้ายที่ประเทศไทย ปีนี้เจอวิกฤติหนัก 2 เด้ง ทั้งผลกระทบจากราคาพลังงานโลกที่พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก และมาเจอปัญหาในประเทศที่การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยผลิตได้ต่ำกว่าเป้าหมายในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบแบ่งปันผลผลิตทำให้ต้องนำเข้า LNG ราคาแพงมาใช้ทดแทน ดังนั้นมาตรการประหยัดพลังงานจึงควรต้องเข้มข้นยิ่งขึ้น
โดยมาตรการประหยัดพลังงานที่ออกมาใหม่ในปีนี้ ที่ชัดเจนคือ มติคณะรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานราชการประหยัดการใช้พลังงานลง 20% และการขอความร่วมมือประชาชนลดใช้พลังงานโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน คือเวลา 19.00 – 21.00 น.
ส่วนกระทรวงพลังงานก็รณรงค์แนวทางการประหยัดง่ายๆ 4 วิธี คือ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน ได้แก่
1. ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น
2. ปรับแอร์เพิ่ม 1 องศา จาก 25 องศา เป็น 26 องศาเซลเซียส ซึ่งจะประหยัดไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10% หรือปรับจาก Cool Mode เป็น Fan Mode
3. ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน
4. เปลี่ยน เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดไฟ LED หรือเครื่องปรับอากาศที่มีค่า SEER สูง
ความสำคัญของการประหยัดพลังงานไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะในปีนี้และปีหน้านั้น จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วย เพราะยิ่งมีแผนการปรับลดการใช้ไฟฟ้าที่ชัดเจนจากภาคอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG นำเข้าราคาแพงลงได้มากเท่านั้น ซึ่งหมายถึงการช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมให้กับประชาชน และช่วยประเทศลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้า LNG ทำให้ดุลการค้าของประเทศดีขึ้นด้วย
การประหยัดพลังงานของประเทศไทยในช่วงวิกฤติพลังงานราคาแพง จึงควรเป็นความร่วมมือกันอย่างจริงจังของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน