สำรวจเครื่องใช้ภายในบ้านเพื่อลดการใช้พลังงานด้วยตนเอง
จะเริ่มต้นประหยัดพลังงานอย่างไรดี เริ่มต้นจากสำรวจตัวเองก็แล้ว ออฟฟิศก็แล้ว พอหรือยังสำหรับการช่วยประหยัดพลังงานด้วยตัวเอง (หรืออีกนัยหนึ่ง เราเองก็ประหยัดเงินในกระเป๋าไปด้วย) เรายังทำได้มากกว่านี้ด้วยการสำรวจสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะ “บ้านของเราเอง” บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านพลังงานชั้นนำของประเทศไทย สานต่อภารกิจเพื่อความยั่งยืนของประเทศใน 3 มิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ชวนทุกท่านมาสำรวจเครื่องใช้ภายในบ้าน ถ้าเราจะอยู่อย่างพอเพียง และประหยัดพลังงานด้วยแล้ว จะปรับหมวดการใช้เครื่องใช้ภายในบ้านได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้อุปกรณ์ที่มีอยู่ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ และยังช่วยลดการใช้พลังงานไปในเวลาเดียวกัน
วิธีง่ายๆ ในการเริ่มต้นประหยัดพลังงานคือการตรวจสอบบ้านด้วยตนเองโดยใช้แอปพลิเคชันสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า มักจะมีแอปของตัวเอง เพื่อช่วยนำเสนอการวิเคราะห์การใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นๆ มันอาจจะลำบากคุณสักนิดที่จะต้องโหลดหลายๆ แอป แต่สิ่งนี้ช่วยกระตุ้นเตือนคุณได้ว่า ตอนนี้ค่าไฟไปถึงไหนแล้ว
นอกจากนี้ ให้จัดหมวดหมู่ในการสำรวจพื้นที่เพื่อให้เราตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ซ่อมบำรุง ตลอดจนเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น
เริ่มที่ห้องน้ำ
หลายท่านละเลยห้องน้ำไปอย่างน่าเสียดาย เพราะคุณมักคิดแค่ว่า ปิดน้ำ ปิดไฟ ก็จบ แต่รายละเอียดปลีกย่อย ได้แก่ ‘หัวฝักบัวแบบไหลต่ำ’ (Lower flow showerheads) สามารถลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการอาบน้ำได้ 20-60% ต่อเดือน ที่สำคัญมันราคาไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับเรนชาวเวอร์ หรือฝักบัวชนิดอื่นๆ แต่ที่ยากกว่านั้น สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) แนะนำว่า การอาบน้ำที่ประหยัดน้ำได้ดีที่สุดควรใช้เวลาเพียง 5 นาทีพอ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการของคนส่วนใหญ่ใช้เวลาอาบน้ำ 10 นาที ส่วนคุณสุภาพบุรุษสุภาพสตรีที่ใช้เวลาเกิน 30 นาทีต่อครั้งนั้น ห้ามบ่นว่าค่าน้ำแพงโดยเด็ดขาด
จุดต่อมาที่ต้องสำรวจก็คือ ‘ชักโครก’ ยิ่งเป็นรุ่นเก่ามากๆ ยิ่งเปลืองน้ำมาก ชักโครกรุ่นใหม่ๆ ถูกออกแบบให้ใช้น้ำน้อยแต่ประสิทธิภาพสูง ถ้าไม่ลำบากจนเกินไป เปลี่ยนเถอะ ช่วยลดค่าน้ำได้มากทีเดียว แต่ถ้าคุณเปลี่ยนอุปกรณ์พวกนี้แล้ว ค่าน้ำยังพุ่งไม่หยุด แสดงว่ามีก๊อกน้ำรั่วแน่นอน หรือถ้าสังเกตว่าจุดไหนในบ้านที่ชื้นบ่อย ให้สันนิษฐานว่า รอยรั่วอาจอยู่บริเวณนั้นก็เป็นได้
สารพัดเรื่องเสียบๆ ถอดๆ
การใช้อุปกรณ์พ่วง ได้แก่ รางปลั๊กไฟ ที่รวบอุปกรณ์หลายๆ ชิ้นในบ้านในมาเสียบอยู่ในจุดเดียว ดีกว่ากระจายหลายจุด ถ้าคุณกระจายมันจะมีหลายจุดที่เราลืมถอดปลั๊ก แต่ถ้าเสียบอุปกรณ์เข้ากับรางปลั๊กไฟเดียวกัน และปิดทั้งแถบเมื่อไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือยามที่ต้องออกจากบ้าน จะช่วยตัดการจ่ายไฟฟ้าและป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องเมื่อไม่ได้ใช้งาน ช่วยเซฟพลังงานได้มากทีเดียว
คอมพิวเตอร์และมือถือเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่สูบพลังงานไฟฟ้ามหาศาล การปรับหน้าจอให้สว่างขึ้นบนอุปกรณ์เหล่านี้ ยิ่งใช้พลังงานมาก เพื่อรักษาความสว่าง และประหยัดพลังงานให้มากที่สุด ควรปรับตั้งค่าความสว่างให้หน้าจอมืดลงเล็กน้อย หรือประมาณ 5% ของที่ใช้อยู่ปัจจุบัน
การแสดงภาพพักหน้าจอเมื่อไม่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์จะต้องใช้พลังงานมาก ยิ่งภาพเป็นสามมิติเคลื่อนไหวได้ ยิ่งเปลืองไฟมากกว่าเดิม ทางที่ดีปล่อยให้คอมพิวเตอร์ของคุณเข้าสู่โหมด Sleep เมื่อไม่ได้ใช้งานแทน เพื่อไม่ให้เปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ
การชาร์จแบตเตอรี่ตลอดเวลา นอกจากจะทำให้มือถือร้อนและเสี่ยงต่อการระเบิดได้ (หากอุปกรณ์คุณไม่ได้มาตรฐาน) ยังเป็นที่สุดของการกินไฟ ฉะนั้นถอดโทรศัพท์มือถือออกจากที่ชาร์จทันทีเมื่อแบตเตอรี่ครบ 100% มิฉะนั้นเครื่องชาร์จจะยังคงใช้พลังงานต่อไปแม้ว่าโทรศัพท์จะชาร์จจนเต็มแล้วก็ตาม
สารพันเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ประหยัดพลังงานได้มหาศาล